ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อยอด วัดดอนหวาย พระเกจิชื่อดังของจังหวัดนครปฐม
![]() |
หลวงพ่อยอด วัดดอนหวาย นครปฐม |
หลวงพ่อยอด วัดดอนหวาย หรือ พระอธิการยอด อินฺทรส อดีตเจ้าอาวาสวัดดอนหวาย ตำบลบางกระทึก อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ท่านเป็นพระเกจิอาจารที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาตั้งแต่สมัยรัชการที่ ๕ โดยเฉพราะในด้านเมตตามหานิยมและคงกระพันชาตรี
หลวงพ่อยอด ท่านมีนามเดิมว่า ยอด อินกระทึก พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านโคกหวาย ตำบลบางระทึก อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๘ โยมบิดาชื่อนายแดง อินกระทึก โยมมารดาชื่อนางแพ อินกระทึก มีพี่น้องรวมกัน ๗ คน คือ
๑. นางอู่
๒. หลวงพ่อยอด
๓. นายเรียน
๔. พระอาจารย์ชุ่ม
๕. นายปลิว
๖. นางเกด
๗. นายชู
เมื่อเยาว์วัยได้อาศัยอยู่กับบิดามารดา ซึ่งมีอาชีพทำนา ต่อมาพระอาจารย์ยาซึ่งเป็นพระน้าชายของท่าน ได้พาท่านไปฝากตัวเป็นศิษย์วัดคงคาราม หรือ วัดกลางบางแก้ว มณฑลนครชัยศรี โดยให้อาศัยอยู่กับพระอธิการแจ้ง หรือ หลวงพ่อแก่ เจ้าอาวาสเพื่อเล่าเรียนหนังสือ
ปี พ.ศ. ๒๔๒๑ หลวงพ่อยอด ท่านมีอายุได้ ๑๓ ปี จึงได้เข้าบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดกลางบางแก้ว ตำบลนครชัยศรี อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม โดยมี
พระอธิการแจ้ง วัดกลางบางแก้ว เป็นพระอุปัชฌาย์
ในช่วงที่เป็นสามเณรนั้น ท่านได้เรียนพระธรรมวินัยตลอดจนวิชาการทำเครื่องรางของขลัง เรียนอักขระขอม เขียนเลขยันต์ และการลบผงพุทธคุณจากวัดกลางบางแก้วจนหมดสิ้น โดยมีพระพุทธวิถีนายก(บุญ ขนฺธโชติ) หรือ "หลวงปู่บุญ" ซึ่งอายุแก่กว่า ๑๗ ปี คอยเป็นพระพี่เลี้ยง
ปี พ.ศ. ๒๔๒๘ หลวงพ่อยอด ท่านมีอายุได้ ๒๐ ปี จึงกลับมาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดคงคารามดอนหวาย (วัดดอนหวาย) ตำบลบางระทึก อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ตามคำขอร้องของโยมบิดาและโยมมารดา ได้รับฉายาว่า "อินฺทรส" โดยมี
พระอธิการเปลี่ยน วัดคงคารามดอนหวาย เป็นพระอุปัชฌาย์
พระมหาแปลก วัดคงคารามดอนหวาย เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระปลัดยา (พระน้าชาย) วัดคงคารามดอนหวาย เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดคงคารามดอนหวายเรื่อยมา เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย และตำราต่างๆ ของวัดคงคารามดอนหวายจนสำเร็จวิชาต่างๆหมดสิ้น
พระอธิการเปลี่ยน พระอุปัชฌาย์ จึงได้นำท่านไปฝากไว้กับพระครูทักษิณานุกิจ(ผัน) วัดสรรเพชญ ตำบลยายชา อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ซึ่งมีชื่อเสียงทางด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน โดยท่านศึกษาการทำสมาธิอยู่นานถึง ๖ ปี จึงได้ออกธุดงควัตรตามป่าช้า
จากนั้นหลวงพ่อยอด ท่านจึงได้เดินทางไปเล่าเรียนเวทมนต์และไสยศาสตร์ในที่ต่างๆ จนถึงประเทศพม่า โดยเริ่มเดินธุดงค์ทางจากวัดคงคารามดอนหวาย เข้าสู่เมืองกำแพงแสนถึงเมืองกาญจนบุรี
ผ่านด่านเจดีย์สามองค์ เข้าเมืองเมาะลำเลิงและผ่านป่าเข้าสู่ประเทศพม่า เพื่อเข้าไปนมัสการพระเจดีย์ชเวดากองที่เมืองย่างกุ้ง จนแตกฉานโดยเพราะตำราการสักยันต์ของพม่า
ส่วนตอนการเดินทางกลับเมืองไทยท่านได้เช่าพระบูชาพม่าศิลปะแบบมัณฑเลย์เนื้อทองผสมรวม ๒ องค์ โดยช่างชาวพม่าให้เป็นผู้หาบตามมา
นายพยอม อินกระทึก หลานของหลวงพ่อยอดได้เล่าให้ฟังว่า ชาวพม่าคนนี้นไม่ได้เดินทางกลับประเทศ เพราะได้แต่งงานกับหญิงไทยชื่อ "เขียว" และตั้งรกรากบ้านเรือนอยู่แถบคลองบางกระทึก
จึงได้ชื่อใหม่ว่า "ตาอยู่พม่า" สำหรับพระพุทธรูปทั้ง ๒ องค์ดังกล่าว ท่านได้นำมาไว้ในที่บูชาพระของท่านมาโดยตลอดและได้ตกทอดเป็นสมบัติของวัดคงคารามดอนหวายมาจนทุกวันนี้
หลวงพ่อยอดใช้เวลาอยู่รุกขมูลอยู่ในป่าแถบชายแดนพม่าอยู่นานถึง ๗ ปี จนสามารถพูดภาษามอญ พม่า กะเหรี่ยง ได้อย่างคล่องแคล่ว จากนั้นจึงเดินทางกลับสู่วัดคงคารามดอนหวายตามเดิม
ปี พ.ศ. ๒๔๕๐ พระอธิการขำ เจ้าอาวาสวัดดอนหวายได้ลาสิกขาบท ทางคณะสงค์จึงแต่งตั้งให้หลวงพ่อยอดขึ้นเป็นเจ้าอาวาสปกครองดูแลวัดทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง
วัดดอนหวาย เป็นวัดราษฏร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ ๕๗ บ้านบางกระทึก ถนนสายชายน้ํา - ไร่ขิง หมู่ที่ ๕ ตําบลบางกระทึก อําเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๓๖ ไร่ ๑ งาน ๔๐ ตารางวา
วัดดอนหวาย ตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๔ เดิมชื่อ "วัดโคกหวาย" เพราะวัดตั้งอยู่บนที่โนนสูง มีต้นหวายขึ้นอยู่จํานวนมาก ผู้ดําเนินการก่อสร้างวัดคือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) วัดศาลาปูน จังหวัดอยุธยา
ซึ่งท่านเป็นชาวนครปฐม เกิดในสมัยรัชกาลที่ ๑ ท่านได้เป็นอธิการบดีสงฆ์ องค์ที่ ๖ ของวัดมหาธาตุ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระธรรมราชานุวัตร ต่อมาท่านได้ถึงแก่มรณภาพในสมัยรัชกาลที่ ๕
โดยท่านมีดำริจะสร้างวัดขึ้นเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา โดยนำที่ดินที่ชาวบ้านมาถวายเพื่อสร้างวัด ท่านจึงได้เริ่มสร้างวัดโคกหวายขึ้น
แต่การก่อสร้างวัดโคกหวายยังคงค้างอยู่ท่านก็มรณภาพลงเสียก่อน ท่านเจ้าคุณพระธรรมราชานุวัตร จึงได้ดําเนินการก่อสร้าง วัดโคกหวายจนเสร็จเรียบร้อย และได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็น "วัดคงคารามดอนหวาย" ต่อมาเหลือเพียงชื่อ "วัดดอนหวาย" เท่านั้น
วัดดอนหวายได้รับการพัฒนาและบูรณะมาโดยตลอด ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๘ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๒๔ เมตร ยาว ๓๘ เมตร มีเจ้าอาวาสปกครองวัดเท่าที่ทราบนาม คือ
๑. พระอธิการดิษฐ์
๒. พระอธิการแสง (ลาสิกขา)
๓. พระอธิการเปลี่ยน (ลาสิกขา)
๔. พระอธิการขํา (ลาสิกขา)
๕. พระอธิการยอด (อินฺทรส) พ.ศ. ๒๔๕๐ - ๒๔๘๓
๖. พระอธิการแก่น (อินทฺเชโต) พ.ศ. ๒๔๘๕ - ๒๔๙๖
๗. พระอธิการเที่ยง (พยตฺโต) พ.ศ. ๒๕๐๑ - ๒๕๐๖ (ลาสิกขา)
๘. พระครูไพศาลธรรมวาที (เท้ โกวิโท) พ.ศ. ๒๕๐๖ - ๒๕๓๕
๙. พระครูสังฆรักษ์นรินทร์ (นรินทร์ ตุฏฺโฐ) พ.ศ. ๒๕๓๘ - ๒๕๔๐ (ลาออก)
๑๐. พระอธิการประวัติ ปวตฺติโก พ.ศ. ๒๕๔๐ - ๒๕๔๘
๑๑. พระธรรมเสนานี (ชุณห์ กิตฺติวณฺโณ) วัดวังตะกู พ.ศ. ๒๕๔๗ - ๒๕๕๐ (รักษาการ)
๑๒. พระเมธีธรรมานันท์ (สำเริง ธมฺมานนฺโท) พ.ศ. ๒๕๕๐ - ปัจจุบัน
หลังจากที่หลวงพ่อยอดได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
ท่านจึงเป็นที่รู้จักในเขตลุ่มเเม่น้ำนครชัยศรี หรือ แม่น้ำท่าจีน เพราะท่านได้ไปเรียญวิชาต่างๆมาจากสำนักวัดคงคาราม หรือ วัดกลางบางแก้ว มณฑลนครชัยศรี และเป็นศิษย์รุ่นน้องของพระพุทธวิถีนายก (บุญ ขันฺธโชติ) วัดกลางบางแก้ว
นอกจากนี้ยังได้ไปเรียนคาถาอาคมต่างๆ ไกลถึงประเทศพม่าที่เมืองย่างกุ้งและเมืองหงสาวดีด้วยเหตุนี้พระเครื่องและวัตถุมงคลของท่านจึงทำให้ได้รับความนิยมและเสาะแสวงหากันมากมาย นับตั้งแต่สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่มาจนถึงปัจจุบัน กล่าวคือ
ส่วนใหญ่พระเครื่องที่ท่านสร้างจะเน้นด้านพิธีกรรมอย่างละเอียดทุกขั้นตอน บางคนเมื่อขอพระเครื่องไม่ได้ก็จะขอเครื่องรางของขลังแทน ถ้าไม่ได้อีกก็จะขอให้ท่านสักให้หรือเป่ากระหม่อมให้
หลวงพ่อยอด ท่านเคยเล่าให้ลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดฟังว่า ในการธุดงค์มีอยู่ครั้งหนึ่งท่านได้พบพระไทย ชื่อพระอาจารย์ปาน จากวัดบางนมโค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มาปักกลดใกล้ๆ กันในป่าเมืองพม่า
พระอาจารย์องค์นี้มีวิชาอาคมมากเวลาก่อนจำวัดท่านจะชัก "ยันต์เกราะเพชร" ล้อมกลดเอาไว้ เพื่อป้องกันสัตว์ร้าย ผีป่า ผีโป่ง นางไม้ นางพราย ไม่กล้าเข้าใกล้ในรัศมีนับร้อยๆ เมตรเลยทีเดียว
ส่วนหลวงพ่อปาน ท่านก็เคยเล่าให้ศิษย์ใกล้ชิด ซึ่งมีหลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี ได้บันทึกไว้ตรงกันว่า ได้พบพระภิกษุไทยองค์หนึ่งชื่อ พระอาจารย์ยอด จากวัดคงคารามดอนหวาย จังหวัดนครปฐม เป็นพระที่คงแกเรียน มีความรู้ทางเวทมนต์และมหามนต์เป็นอย่างดี เมื่อครั้งแรกเห็นรู้สึกนิยมชมชอบเมื่อได้พูดจาปราศัยด้วยแล้วให้รู้สึกมีความเคารพยำเกรง
หลวงพ่อยอด ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๓ นับรวมสิริอายุได้ ๗๕ ปี ๕๕ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อยอด วัดดอนหวาย
พระพิมพ์นารายณ์แปลงรูปหลวงพ่อยอด วัดดอนหวาย
สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ.๒๔๘๐ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นพระพิมพ์สี่เหลี่ยม สร้างด้วยเนื้อผงจิดามณีตามตำหรับวัดกลางบางแก้ว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
พระพิมพ์นารายณ์แปลง รูปหลวงพ่อยอด วัดดอนหวาย นครปฐม เนื้อผงยา |
![]() |
พระพิมพ์นารายณ์แปลงรูป หลวงพ่อยอด วัดดอนหวาย นครปฐม เนื้อผงยา |
![]() |
พระพิมพ์นารายณ์แปลงรูป หลวงพ่อยอด วัดดอนหวาย นครปฐม เนื้อผงยา ของคุณ ต.ต่าย ตื่นตูม |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระนารายณ์ประทับบนฐานบัวฟันปลา
ด้านหลัง เรียบ ในบางองค์มีจารอักขระยันต์ "เกราะเพชร"
พระปิดตาซ่อนหาหลวงพ่อยอด วัดดอนหวาย
สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ.๒๔๘๐ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นพระพิมพ์กลีบบัวแหลม สร้างจากเนื้อผงยาจินดามณีตามตำหรับของวัดกลางบางแก้ว และเนื้อผงคลุกรัก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
พระปิดตาซ่อนหา หลวงพ่อยอด วัดดอนหวาย นครปฐม เนื้อผงคลุกรัก ของคุณเอ ไร่ขิง |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระปิดตา บนพระปิดตามีพระพุทธรูปปางสมาธิ เป็นเอกลักษณ์
ด้านหลัง เรียบ ในบางองค์มีจารอักขระยันต์
พระพิมพ์ซุ้มกระจังหลวงพ่อยอด วัดดอนหวาย
สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ.๒๔๘๐ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นพระพิมพ์กลีบบัวแหลม สร้างจากเนื้อผงยาจินดามณีตามตำหรับของวัดกลางบางแก้ว และเนื้อผงคลุกรัก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
พระพิมพ์ซุ้มกระจัง หลวงพ่อยอด วัดดอนหวาย นครปฐม เนื้อผงยาจินดามณี |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิ องค์พระด้านหลังมีรัศมีเป็นเอกลักษณ์
ด้านหลัง เรียบ ในบางองค์มีจารอักขระยันต์
พระลีลาไข้วขาหลวงพ่อยอด วัดดอนหวาย
สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ.๒๔๘๐ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นพระพิมพ์กลีบบัวแหลม สร้างจากเนื้อผงยาจินดามณีตามตำหรับของวัดกลางบางแก้ว เนื้อผงคลุกรัก และเนื้อดิน จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
พระลีลาขาไข้ว หลวงพ่อยอด วัดดอนหวาย นครปฐม ผงยาจินดามณี ของคุณป๊ะป๋า ซาชิ |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระพุทธรูปประทับยืนปางลีลา แต่องค์พระยกพระบามไข้วขา จึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์
ด้านหลัง เรียบ ในบางองค์มีจารอักขระยันต์
โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม
บทความที่เกี่ยวข้อง
ไม่มีความคิดเห็น