โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อห้อย วัดหอมเกร็ด (พระครูไพศาลธรรมวาที) เจ้าของเหรียญหายากของนครปฐม

ภาพถ่ายหลวงพ่อห้อย วัดหอมเกร็ด นครปฐม
หลวงพ่อห้อย วัดหอมเกร็ด นครปฐม

         หลวงพ่อห้อย วัดหอมเกร็ด หรือ พระครูไพศาลธรรมวาที อดีตเจ้าอาวาสวัดหอมเกร็ด ตำบลหอมเกร็ด อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ท่านเป็นพระเกจิของเหรียญและพระปิดตาชื่อดังของนครปฐม

          หลวงพ่อห้อย พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านหอม ตำบลหอมเกร็ด อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เกิดเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๑๕ โยมบิดาชื่อนายมั่ง โยมมารดาชื่อนางเมือง 

         เมื่อวัยเด็กโยมบิดาและโยมมารดาได้นำท่านไปฝากเรียนเขียนอ่านภาษาบาลีขอมกับเจ้าอธิการรุ่ง วัดหอมเกร็ด ต่อมาได้บรรพชาเป็นสามเณรโดยมี เจ้าอธิการรุ่ง วัดหอมเกร็ด เป็นพระอุปัชฌาย์

         ปี พ.ศ. ๒๔๓๕ หลวงพ่อห้อยมีอายุได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ จึงรับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดหอมเกร็ด ตำบลหอมเกร็ด อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ได้รับฉายาว่า "ปุญญัสสะ" โดยมี

         พระครูปุริมานุรักษ์ วัดสุขประดิษฐาราม เป็นพระอุปัชฌาย์

         หลวงพ่อรุ่ง วัดหอมเกร็ด เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         หลวงพ่อแจ่ม วัดทรงคนอง เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดหอมเกร็ดเรื่อยมา เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและวิชาอาคมต่างๆ จากพระอาจารย์ทั้งสามองค์นี้ จนสำเร็จวิชาต่างๆมากมาย

         นอกจากนี้หลวงพ่อห้อยท่านยังได้เรียนกับสมเด็จพระสังฆราชแพ วัดสุทัศน์ ในตอนที่สมเด็จพระสังฆราชฯ ยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมโกษาจารย์อีกด้วย

         ปี พ.ศ. ๒๔๓๘ หลวงพ่อรุ่งเจ้าอาวาสวัดหอมเกร็ดก็มรณภาพลง คณะศิษย์และมัคนายกวัดได้นิมนต์หลวงพ่อห้อยรักษาการเจ้าอาวาสวัดหอมเกร็ด

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๐ หลังจากที่หลวงพ่อห้อยรักษาการเจ้าอาวาสได้ ๒ ปี มีพรรษาครบ ๕ ปี ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

         วัดหอมเกร็ด เป็นวัดราษฏร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ ๗๐ หมู่ที่ ๔ บ้านหัวไทร ตำบลหอมเกร็ด อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๑๖ ไร่ ๑ งาน

         วัดหอมเกร็ด ตั้งเมื่อวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๕ โดยไม่ทราบชื่อผู้บริจาคที่ดิน ทราบแต่ว่ามีพระธุดงค์รูปหนึ่งเดินทางมาจากมณฑลราชบุรี มีนามว่า หลวงพ่อรุ่ง มาปักกลดอยู่ในบริเวณหมู่ที่ ๓ ตำบลหอมเกร็ดปัจจุบัน 

         ชาวบ้านต่างเลื่อมใสจึงได้สร้างวัดและนิมนต์ท่านเป็นเจ้าอาวาส เรียกว่า "วัดไร่" หรือ "วัดบ้านไร่" ต่อมาวัดเกิดความแห้งแล้งและกันดาร ประชาชนจึงได้นิมนต์หลวงพ่อรุ่งมาจำพรรษาอยู่ในที่แห่งใหม่อันเป็นที่ตั้งของวัดหอมเกร็ดในปัจจุบัน

         ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๔ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๒๕ เมตร ยาว ๔๐ เมตร มีรายนามเจ้าอาวาสปกครองวัดเท่าที่ทราบนาม คือ

         ๑. พระอธิการรรุ่ง

         ๒. พระครูไพศาลธรรมวาที (ห้อย ปุญญัสสะ) พ.ศ. ๒๔๔๐ - ๒๔๘๗

         ๓. พระอธิการหนู อนาลโย พ.ศ. ๒๔๘๗ - ๒๔๙๓

         ๔. พระอธิการเจริญ พ.ศ. ๒๔๙๖ - ๒๔๙๗

         ๕. พระครูสิริพรหมจริยคุณ (สนิท พรหฺมสิริ) พ.ศ. ๒๕๐๔ - ๒๕๓๑

         ๖. พระครูจารุวัฒนคุณ (เพ้ง จารุวณฺโณ)  พ.ศ. ๒๕๓๒ - ปัจจุบัน

         หลังจากที่หลวงพ่อห้อยได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ท่านได้เปิดโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม

         วัดหอมเกร็ดนั้นแต่เดิมชื่อว่า "วัดหอมกรุ่น" ต่อมาหลวงพ่อห้อยท่านได้พิจารณาเห็นว่าวัดหอมกรุ่น นั้นไม่เหมาะสมสอดคล้องสภาพพื้นที่ของวัด จึงเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า "วัดหอมเกร็ด"

         หลังจากที่ได้ย้ายมาอยู่ริมแม่น้ำแล้ว หลวงพ่อห้อยท่านก็ได้เริ่มสร้างพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองอย่างมาก ท่านได้สร้างพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ หอระฆัง และเจดีย์มอญ

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๒ ท่านสนใจในเรื่องการศึกษาของเด็กชาวบ้านในแถบนั้น จึงได้ให้เปิดศาลาการเปรียญเพื่อทำการสอนหนังสือให้แก่เด็กๆ โดยมีนายเทพ นาคนาเกร็ด เป็นครูใหญ่คนแรก โรงเรียนวัดหอมเกร็ด(ไพศาลประชานุกูล) ได้ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๒

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ด้วยคุณงามความดีของหลวงพ่อที่พัฒนาวัดและชุมชนจนเจริญรุ่งเรือง ท่านจึงได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ที่ พระครูไพศาลธรรมวาที ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวงสามพราน

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อวันแรม ๕ ต่ำ

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ท่านได้สร้างพระประธานประจําอุโบสถ ปางมารวิชัยเกตุเปลวเพลิง ขนาดหน้าตักกว้าง ๑.๕๐ เมตร และท่านได้สร้างอาคารเรียนขึ้นสำหรับบุตร-ธิดา ของชาวบ้านในพื้นที่เมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๕ ตั้งชื่อโรงเรียนว่า "ห้อยศึกษาลัย"          

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ท่านก็ได้ขยายโรงเรียนขึ้นโดยการร่วมมือกับชาวบ้านและทางการจนเป็นโรงเรียนมาตรฐานชื่อว่า "โรงเรียนไพศาลประชานุกูล" 

         หลวงพ่อห้อย ท่านเป็นพระผู้ก่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับประชาชนชาวตำบลหอมเกร็ดเป็นอย่างมาก ประชาชนให้ความเคารพนับถือและมากราบไหว้รูปเหมือนของท่านอยู่ทุกวันนี้ 

         ท่านได้สร้างพระเครื่องขึ้นและที่นิยมมากได้แก่ พระปิดตามหาอุตม์ เหรียญปั๊ม และเหรียญหล่อต่างๆ ซึ่งล้วนมีประสบการณ์ทั้งสิ้น

         หลวงพ่อห้อย ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงเมื่อเดือน ๑๑ ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ นับรวมสิริอายุได้ ๗๑ ปี ๕๑ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อห้อย วัดหอมเกร็ด

         เหรียญหลวงพ่อห้อย วัดหอมเกร็ด รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๖๕ เพื่อแจกในคราวฉลองสมณศักดิ์ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มข้างกระบอกรูปไข่มีห่วงเชื่อม มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อห้อย วัดหอมเกร็ด นครปฐม รุ่นแรก 2465 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อห้อย วัดหอมเกร็ด นครปฐม รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อห้อยครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ที่ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระฤกงานฉลองตรา พระครูไพศาลธรรมวาที วัดหอมเกร็ด" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีเลขไทยเขียนว่า "๒๔๖๕" 

         เหรียญหลวงพ่อห้อย วัดหอมเกร็ด รุ่น ๒

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๙๓ โดยพระอธิการเจริญ เจ้าอาวาสในสมัยนั้น เพื่อแจกในคราวหล่อรูปหลวงพ่อหอม ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มตัดขอบรูปไข่แบบมีหูในตัว เหรียญได้หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ มาปลุกเสกให้ มีการสร้างด้วยเนื้อดีบุกเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อห้อย วัดหอมเกร็ด นครปฐม รุ่น 2 2493 ดีบุก
เหรียญหลวงพ่อห้อย วัดหอมเกร็ด นครปฐม รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เนื้อดีบุก

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อห้อยครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ที่ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในงานหล่อรูปพระครูไพศาลธรรมวาที วัดหอมเกร็ด" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีเลขไทยเขียนว่า "๒๔๙๓" 

         พระปิดตาหลวงพ่อห้อย วัดหอมเกร็ด รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๖๕ - ๒๔๘๓ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นพระปิดตาหล่อโบราณ มีการสร้างด้วยเนื้อทองเหลืองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระปิดตาหลวงพ่อห้อย วัดหอมเกร็ด นครปฐม รุ่นแรก 2465 - 2483 ทองเหลือง-1
พระปิดตาหลวงพ่อห้อย วัดหอมเกร็ด นครปฐม รุ่นแรก เนื้อทองเหลือง ของคุณอุทัย เรืองสุรัตน์

พระปิดตาหลวงพ่อห้อย วัดหอมเกร็ด นครปฐม รุ่นแรก 2465 - 2483 ทองเหลือง-1-ข้าง
พระปิดตาหลวงพ่อห้อย วัดหอมเกร็ด นครปฐม รุ่นแรก เนื้อทองเหลือง ของคุณอุทัย เรืองสุรัตน์

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระปิดตาภควัมบดี

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ขอมอ่านได้ว่า "อุ" 



โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น