โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อยอด วัดหนองปลาหมอ สระบุรี เจ้าของรูปหล่อเบญจภาคีของเมืองไทย

ภาพถ่ายหลวงพ่อยอด วัดหนองปลาหมอ สระบุรี
หลวงพ่อยอด วัดหนองปลาหมอ สระบุรี

         หลวงพ่อยอด วัดหนองปลาหมอ หรือ พระครูประสุดสังฆกิจ อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองปลาหมอ ตำบลหนองปลาหมอ อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี นับเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงอันดับหนึ่งของจังหวัดสระบุรี

         พระรูปเหมือนของท่านถึงแม้จะสร้างไม่ทันตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ก็ตาม แต่ก็ยังเป็นที่นิยมและยกย่องให้เป็นหนึ่งใน เบญจภาคีพระรูปเหมือนยอดนิยมของเมืองไทย

         หลวงพ่อยอด พื้นเพท่านเป็นชาวนครราชสีมา เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๐ โดยไม่ปรากฏชื่อโยมบิดาและโยมมารดาของท่าน

         ปี พ.ศ. ๒๔๒๒ หลวงพ่อยอด ท่านมีอายุครบบวช ท่านจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดมะรุม ตำบลพลสงคราม อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ได้รับฉายาว่า "อินทโชติ" โดยมี

         พระอาจารย์อินทร วัดมะรุม เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระอาจารย์ปล้อง วัดมะรุม เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         พระอาจารย์รอด วัดมะค่า เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดมะรุมเรื่อยมา เพื่อศึกษาคันถธุระและวิปัสสนาธุระจากพระอุปัชฌาย์จนแตกฉาน 

         หลังจากนั้นท่านจึงได้เดินทางมาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมที่วัดชนะสงคราม กรุงเทพมหานคร ท่านได้ศึกษาวิทยาการต่างๆ อยู่ที่วัดชนะสงครามหลายพรรษา 

         ต่อมาท่านก็ได้รู้จักกับพระอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังแห่งเมืองพระนครศรีอยุธยา คือหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติการาม และหลวงพ่อฉาย วัดพนัญเชิง ท่านจึงได้เดินทางมาที่พระนครศรีอยุธยา โดยจำพรรษาอยู่กับหลวงพ่อกลั่นเป็นระยะเวลาหนึ่ง

         จากนั้นก็ออกเดินทางมาทางอำเภออุทัย อำเภอหนองแค ผ่านหมู่บ้านหนองปลาหมอ จังหวัดสระบุรีซึ่งในขณะนั้นที่วัดหนองปลาหมอ เป็นเพียงสำนักสงฆ์ที่ร้างอยู่ ท่านจึงดำเนินการสร้างขึ้นเป็นวัดหนองปลาเข็ง ในปี พ.ศ. ๒๔๓๒ จนเจริญรุ่ง เรืองมาจนทุกวันนี้

ภาพถ่ายหลวงพ่อยอด วัดหนองปลาหมอ สระบุรี
หลวงพ่อยอด วัดหนองปลาหมอ สระบุรี

         วัดหนองปลาหมอ เป็นวัดราษฏร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ ๒๕ บ้านหนองปลาหมอ หมู่ที่ ๑ ตำบลหนองปลาหมอ อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี  มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๖ ไร่ ๒ งาน ๒ ตารางวา

          วัดหนองปลาหมอ สร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่วันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๐ เดิมมีนามว่า "วัดหนองปลาเข็ง" ได้เปลี่ยนนามวัดเป็น "วัดหนองปลาหมอ" ในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ พื้นที่วัดเป็นที่ราบลุ่มและเป็นเนินสูงมีบ้านไม้โดยรอบ

         ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้ผูกอาสนะสีมาวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๒๐ มีรายนามเจ้าอาวาสปกครองวัดที่ทราบนาม คือ

         ๑. พระครูประสุดสังฆกิจ (ยอด อินทโชติ) พ.ศ. ๒๔๔๕ - ๒๔๘๖

         ๒. พระครูพรหมสรวัฒน์ (จำรัส พรหฺมสโร) พ.ศ. ๒๔๙๖ - ๒๕๓๔

         ๓. พระครูเกษมสุตาภิรม (พายัพ เขมโก) พ.ศ. ๒๕๓๔ - ปัจจุบัน

         หลังจากที่หลวงพ่อยอดได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

         ด้วยคุณงามความดีที่ท่านพัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นอย่างมาก ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอธิการหมวด และเป็นพระอุปัชฌาย์ ตามลำดับ

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูเจ้าคณะแขวงที่ พระครูประสุดสังฆกิจ

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๘ ท่านได้สร้างโรงเรียนวัดหนองปลาหมอ เพื่อให้เป็นสถานศึกษาของบุตร-ธิดาของชาวบ้านในพื้นที่

         หลวงพ่อยอด ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ นับรวมสิริอายุได้ ๘๖ ปี  ๖๓ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อยอด วัดหนองปลาหมอ

         เหรียญหลวงพ่อยอด วัดหนองปลาหมอ รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยหลวงพ่อแก้ว เจ้าอาวาสวัดหนองบอน ขออนุญาติสร้างเพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์สร้างพระอุโบสถวัดหนองบอน ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงเสมาขอบกระบอกแบบมีหูในตัว มีการสร้างเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างน้อยและไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อยอด วัดหนองปลาหมอ สระบุรี รุ่นแรก 2475 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อยอด วัดหนองปลาหมอ สระบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อยอดเต็มองค์นั่งบนธรรมมาส องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ตรีนิสิงเห เหนืออักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "มงคลถาวร" 

         รูปหล่อหลวงพ่อยอด วัดหนองปลาหมอ รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ หลังจากที่หลวงพ่อยอดมรณภาพแล้ว โดยพระครูวิบูลย์คณานุสรณ์ หรือ หลวงพ่อเฉื่อย อดีตเจ้าอาวาสวัดสหมิตรมงคล ศิษย์ของหลวงพ่อยอด ลักษณะเป็นพระรูปหล่อโบราณเนื้อทองผสมแก่ทองเหลือง ปลุกเสกโดย หลวงพ่อคง วัดพุทไธศวรรย์ หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก หลวงพ่อเกิด วัดสะพาน หลวงปู่นาค วัดหนองสีดา และหลวงพ่อเที่ยง วัดศาลาแดง หลังจากพิธีได้นำออกมาให้ทำบุญบูชาองค์ละ ๒๐ บาท จำนวนการสร้างประมาณ ๕๐๐ องค์

รูปหล่อหลวงพ่อยอด วัดหนองปลาหมอ สระบุรี รุ่นแรก 2487 ทองเหลือง
รูปหล่อหลวงพ่อยอด วัดหนองปลาหมอ สระบุรี รุ่นแรก 2487 ทองเหลือง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อยอดเต็มองค์นั่งสมาธิบนฐานเขียง องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ 

         ด้านหลัง มีปรากฏอักขระใดๆ ที่ใต้ฐานของรูปหล่อทุกองค์จะมี "ผงอัฐิของหลวงพ่อยอด" บรรจุอยู่แล้วอุดปิดด้วยโลหะทองแดง

         รูปหล่อหลวงพ่อยอด วัดหนองปลาหมอ รุ่น ๒

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ โดยหลวงพ่อจำรัส เจ้าอาวาสวัดในสมัยนั้น เพื่อแจกให้ผู้ที่บริจาคทรัพย์สร้างสะพานให้กับทางวัด ลักษณะเป็นพระรูปหล่อโบราณเนื้อทองผสมแก่ทองเหลือง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

รูปหล่อหลวงพ่อยอด วัดหนองปลาหมอ สระบุรี รุ่น 2 2511 ทองเหลือง
รูปหล่อหลวงพ่อยอด วัดหนองปลาหมอ สระบุรี รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ เนื้อทองเหลืองรมดำ

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อยอดเต็มองค์นั่งสมาธิบนฐานเขียง องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ที่ฐานเขียงมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อยอด"

         ด้านหลัง มีปรากฏอักขระใดๆ ที่ใต้ฐานของรูปหล่อทุกองค์จะมี "ผงอัฐิของหลวงพ่อยอด" บรรจุอยู่แล้วอุดปิดด้วยโลหะทองแดง (อุดเดียว ไม่มีกริ่ง)

         รูปหล่อหลวงพ่อยอด วัดหนองปลาหมอ รุ่น ๓ (มีกริ่ง)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ - ๒๕๑๓ หลังจากรูปหล่อรุ่น ๒ หมดไปอย่างรวดเร็ว โดยหลวงพ่อจำรัส เจ้าอาวาสวัดในสมัยนั้น เพื่อแจกให้ผู้ที่บริจาคทรัพย์สร้างสะพานให้กับทางวัด ลักษณะเป็นพระรูปหล่อโบราณเนื้อทองผสมแก่ทองเหลือง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

รูปหล่อหลวงพ่อยอด วัดหนองปลาหมอ สระบุรี รุ่น 3 2512-2513 ทองเหลือง
รูปหล่อหลวงพ่อยอด วัดหนองปลาหมอ สระบุรี รุ่น ๓ (มีกริ่ง) ปี พ.ศ. ๒๕๑๒- ๒๕๑๓ เนื้อทองเหลืองรมดำ

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อยอดเต็มองค์นั่งสมาธิบนฐานเขียง องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ที่ฐานเขียงมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อยอด"

         ด้านหลัง มีปรากฏอักขระใดๆ ที่ใต้ฐานของรูปหล่อทุกองค์จะมี "ผงอัฐิของหลวงพ่อยอด" บรรจุอยู่แล้วอุดปิดด้วยโลหะทองแดง และมีรอยอุดกริ่ง (๒ อุด มีกริ่ง)


โดย : สารานุกรมพระเกจิแห่งแดนสยาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ด้วยการกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***


ไม่มีความคิดเห็น